top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

เวที WIPO ฝุ่นตลบ เพื่อเฟ้นหาผู้อำนวยการใหญ่ WIPO คนใหม่


แหล่งที่มา: World Intellectual Property Organization (WIPO)


ตั้งแต่เดือนนี้ถึงเดือนหน้า (ม.ค.-ก.พ.2563) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO จะฝุ่นตลบ เพราะผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WIPO จะต้องวิ่งนำเสนอและแนะนำตัวเองให้เป็นที่รู้จักของประเทศสมาชิกฯ รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์และแผนการดำเนินการในการพัฒนา WIPO ให้เป็นที่น่าประทับใจและน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิก


สืบเนื่องจาก นาย Francis Gurry ผู้อำนวยการใหญ่ WIPO จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน 2563 WIPO จึงต้องเริ่มกระบวนการคัดสรรผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 WIPO ได้ปิดรับสมัครผู้สนใจที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวไป โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมัครทั้งสิ้น 10 คนจาก 10 ประเทศ ได้แก่ กานา คาซัคสถาน โคลอมเบีย จีน ญี่ปุ่น ไนจีเรีย เปรู สิงคโปร์ อาร์เจนตินา และเอสโตเนีย โดยผู้สมัครทั้ง 10 คนดังกล่าวล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น และมี 4 คนที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสำคัญใน WIPO ซึ่งได้แก่ผู้สมัครจาก ญี่ปุ่น จีน กานา และโคลอมเบีย


คณะกรรมการประสานงานแห่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ CoCo (WIPO Coordination Committee) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 83 ประเทศ จะเป็นคณะกรรมการที่พิจารณาเสนอชื่อผู้ที่เห็นควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WIPO จำนวน 1 คน ให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WIPO คนต่อไป โดยจะเปิดให้ candidates ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และนโยบายที่จะพัฒนา WIPO รวมถึงตอบข้อซักถามของประเทศสมาชิกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และในต้นเดือนมีนาคม 2563 จะเป็นการประชุมคณะกรรมการ CoCo สมัยพิเศษ เพื่อทำการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งฯ โดยกระบวนการคัดเลือกจะเปิดให้มีการลงคะแนนลับ (secret vote) และจะคัดผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออกในแต่ละรอบ จนเหลือผู้สมัคร 1 คนสุดท้ายที่ได้คะแนนมากที่สุด เพื่อเสนอชื่อต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO พิจารณาแต่งตั้งฯ ต่อไปในเดือนพฤษภาคม 2563


ไทยในฐานะประเทศสมาชิกหนึ่งในคณะกรรมการ CoCo ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีสิทธิในการโหวต ก็จะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้สมัครเพื่อจะเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WIPO คนต่อไปด้วย


WIPO เป็นองค์การที่สำคัญมากด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีภารกิจในด้านการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และการผลักดันวาระด้านการพัฒนา อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของทั่วโลก มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจดทะเบียน โดยเฉลี่ยมีรายได้ปีละประมาณ 400 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่มีรายได้มากที่สุด จึงเป็นที่สนใจของทุกคนที่อยากก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งไทยในฐานะประเทศสมาชิกหนึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจาก WIPO ทั้งในรูปการส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของไทย จัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปอบรมให้ความรู้ด้านการจดทะเบียนฯ แก่เจ้าหน้าที่ไทย รวมทั้งให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ประชาชนชาวไทย เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ SMEs ได้อย่างมหาศาล


ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้สมัครแต่ละคนต้องรีบวิ่งทำคะแนนจนฝุ่นตลบ ทั้งในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และเมืองหลวงของประเทศสมาชิก CoCo งัดข้อเสนอพิเศษต่างๆ นานา ทั้งความร่วมมือและความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะแลกกับคะแนนโหวตที่คาดว่าจะได้มากที่สุด จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าใครจะเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WIPO คนต่อไป


นวรัตน์

มกราคม 2563

125 views0 comments

Comentários


Os comentários foram desativados.
bottom of page