เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป็นเป้าหมายที่องค์การการค้าโลก (WTO) ต้องการดำเนินการให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายดังกล่าว อาทิ การขจัดความยากจน การส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดย WTO รับทราบถึงความสำคัญของการค้าในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ WTO ได้ตระหนักถึงการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการบรรลุ SDGs โดยดำเนินการปฏิรูปทางการค้า รวมถึงรักษาความมีเสถียรภาพทางการค้าและความเท่าเทียมกันทั่วโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี พ.ศ.2573
บทบาทของ WTO ในการบรรลุ SDGs
WTO ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติเพื่อติดตามความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน โดยสมาชิกองค์การสหประชาชาติและองค์การการค้าโลก มีการประชุมกันทุกปีเพื่อประเมินความคืบหน้าใน การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
การค้าช่วยสนับสนุนให้บรรลุ SDGs ได้อย่างไร
การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 17 เป้าหมาย การค้าจะช่วยสนับสนุนให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละเป้าหมายได้ ดังนี้
SDG 1: ขจัดความยากจน (No Poverty) - นโยบายการค้าที่มีการวางแผนและมีกลยุทธ์ในการดำเนินการที่ดีสามารถช่วยขจัดความยากจน และก่อให้เกิดมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากการค้าเสรีได้ช่วยเพิ่มผลผลิต ก่อให้เกิดการแข่งขันและมีทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค นอกเหนือจากได้รับราคาที่ดียิ่งขึ้น
SDG 2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) -การยกเลิกเงินอุดหนุนทางการเกษตรที่บิดเบือนตลาดจะนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และผู้บริโภค รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร คำวินิจฉัยของ WTO ประจำปี พ.ศ. 2558 ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกทำให้เกิดการยกเลิกเงินอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรช่วยทำให้ตลาดการค้ามีความเป็นธรรมอีกครั้ง
SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) – การเข้าถึงการรักษาและยาสำหรับทุกคนเป็นสิ่งจำเป็น การปรับปรุงครั้งสำคัญในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ของ WTO ในปี พ.ศ. 2560 ทำห้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง
SDG 5: ความเท่าเทียมระหว่างเพศ - การค้าช่วยสร้างโอกาสสำหรับการจ้างงานเและสร้างความมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจให้กับสตรี โดยเฉพาะงานในภาคการส่งออกที่ทำให้สตรีในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลตอบแทน เพิ่มมากขึ้น
SDG 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ - การเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำโดยการค้าช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ของประเทศเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) ของ WTO สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมาก ในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้า
SDG 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน - การค้าช่วยสร้างผลได้ทางเศรษฐกิจโดยการเพิ่ม การแข่งขันและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ และนวัตกรรม โดยกำหนดให้มีการเปิดตลาดเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาเพื่อให้บรรลุ SDG 9
SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ– การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการพัฒนาก่อให้เกิดโอกาสสำหรับประชาชนที่ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ WTO พยายามที่จะลดผลกระทบของความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ผ่านหลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านความสามารถของประเทศเหล่านั้น
SDG 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล – WTO ได้เจรจากฎระเบียบการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และได้รับการยอมรับโดยผู้นำระดับโลกในเวทีสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 รวมไปถึงอาณัติการเจรจาในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 11 ในปี พ.ศ. 2560
SDG17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน– การดำเนินการภายใต้เป้าหมายนี้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นสากล ตามกฎเกณฑ์ เปิดกว้าง โดยให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาและเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) เป็นสองเท่า และการดำเนินการเพื่อการเข้าถึงการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (duty-free and quota-free) ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
ประเทศไทยกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยได้นำเอาแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นแนวทางให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มาเป็นกรอบการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพของประชาชนและชุมชน นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาในระดับโลก โดยการช่วยเสริมสร้างความสามารถของประเทศเพื่อนบ้านในการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาในอนาคต
การแบ่งปันความรู้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวโดยผ่านเวทีระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน โดยได้มี ความพยายามในการสร้างเสริมศักยภาพเหล่านี้ ผ่านการดำเนินการทั้งความร่วมมือแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้นำกลุ่ม G-77 ในปีพ.ศ. 2560 ได้ส่งเสริมความคิดริเริ่มของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมการจัดตั้งโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาดังกล่าวในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ ติมอร์ตะวันออก และตองกา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน ความต้องการของมนุษย์และการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถช่วยสนับสนุนการนำเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนไปปรับใช้ในระดับสากล นอกจากนี้ ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ของประเทศไทยก็มีการให้ความสำคัญกับประเด็นของการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้านที่ประกอบด้วย ความมั่นคง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเสมอภาคทางสังคม การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมและการพัฒนาภาครัฐ พร้อมทั้ง 4 ยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ WTO และ องค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2573 ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection)
Source:
Comments