top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

สมาชิก WTO เร่งเดินหน้าเจรจา e-commerce หวังเป็นรูปธรรมก่อน MC12


หากกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เราคงจะไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งทุกวันนี้โลกออนไลน์มีผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก การซื้อขายสินค้าและบริการ e-commerce การดาวน์โหลดเพลง การดูหนังผ่านแอปพลิเคชัน และการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเราอีกต่อไป

สมาชิก WTO ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าดังกล่าว และเห็นว่า WTO จำเป็นต้องก้าวให้ทันต่อทิศทางการค้าใหม่ของโลก จึงได้มีการผลักดันให้มีการจัดทำกฎระเบียบด้านการค้า e-commerce ในเวที WTO ขึ้น โดยมุ่งหวังให้มีความตกลงพหุภาคี e-commerce แต่ทว่ายังคงมีสมาชิก WTO บางประเทศที่ยังคงไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าเจรจาความตกลงดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้สมาชิกต่างๆ หันมาหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในบริบทของการค้า e-commerce ภายใต้ Work Program ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความชัดเจนกันเสียก่อน


อย่างไรก็ดี สมาชิก WTO หลายประเทศ นำโดยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเจรจาจัดทำความตกลง e-commerce โดยในการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 11 (MC11) ณ กรุง บูเอโนสไอเรส อาร์เจนตินา เมื่อปี 2560 สมาชิก WTO 72 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Joint Statement on Electronic Commerce) เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกเริ่มหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce ต่อมา สมาชิก WTO ได้มีการยกระดับการหารือขึ้นสู่ระดับการเจรจาภายหลังการออกประกาศแถลงการณ์ร่วมในการประชุม Informal Meeting of Ministers (IMM) on E-commerce เมื่อเดือนมกราคม 2562 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสมาชิก WTO รวม 76 ประเทศเข้าร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้ (ปัจจุบันมี สมาชิก WTO 80 ประเทศร่วมสนับสนุน) โดยมุ่งหมายในการจัดทำความตกลง e-commerce ที่เป็นความตกลงมาตรฐานสูง มีสมาชิก WTO เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และการให้ความยืดหยุ่น (Flexibility) แก่ประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs


สำหรับไทยในฐานะประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการค้า e-commerce และมีนโยบายในการใช้ e-commerce เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เสริมรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมแถลงการณ์ร่วมฯ และเข้าร่วมการเจรจาความตกลง e-commerce ภายใต้ WTO อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตระหนักว่า ไทยจำเป็นต้องก้าวตามเทรนด์การค้าโลกให้ทัน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า e-commerce ของประเทศให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก และสร้างความน่าเชื่อของตลาด e-commerce ของไทย โดยเฉพาะการผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-up ของไทย ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศ สามารถเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการขยายช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2562 Google, TEMASEK และ BAIN & COMPANY ได้ร่วมกันจัดทำรายงานการวิจัยเรื่อง “e-Conomy SEA 2019 - Swipe up and to the right: Southeast Asia’s $100 billion Internet economy” ซึ่งพบว่า ในปี 2562 ไทยมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 29 ต่อปี และจะมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2568 ข้อมูลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สนับสนุนว่า “ทำไมไทยจึงควรมีส่วนร่วมในการเจรจาความตกลง e-commerce ของ WTO ให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของไทยมากที่สุด”


ปัจจุบัน สมาชิก WTO เดินหน้าการเจรจาความตกลง e-commerce อย่างเต็มที่ โดยมีการประชุมเจรจาอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และเป็นการเจรจาแบบ Open - ended meeting ที่เปิดโอกาสให้สมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก WTO ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจาดังกล่าวอย่างมาก และมีการส่งผู้แทนจากเมืองหลวงเข้าร่วมการเจรจาอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มการเจรจาร่างข้อบท (Streamlined working texts) ตั้งแต่เดือนกันยายน ที่ผ่านมา เพื่อหวังที่จะให้มีความคืบหน้าการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการประชุม MC12 ในเดือนมิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ประเทศคาซัคสถาน


ในการเจรจาฯ สมาชิกได้แบ่งการหารือหลักๆ ออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1) การจัดทำข้อบทที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบระหว่างประเทศด้าน e-commerce เช่น การจัดทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการกับข้อความที่ไม่พึงประสงค์ (spam) การรับรองผลทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกทางพิธีการศุลกากรแก่การค้า e-commerce การยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสิ่งที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน การจำกัดการเปิดเผย “source code” การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความร่วมมือเพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคระหว่างสมาชิก เป็นต้น 2) การปรับปรุงเอกสารอ้างอิงของ WTO ว่าด้วยเรื่องโทรคมนาคมพื้นฐาน (WTO reference paper on basic telecommunications) และ 3) การเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ ในพิกัด/สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า e-commerce โดยผลลัพธ์ในการเจรจาประเด็นเหล่านี้จะเป็นการยกระดับการค้า e-commerce ของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางการค้า e-commerce ให้เอื้อต่อการขยายตลาดของผู้ประกอบการไทย อาทิ การเสริมสร้างความโปร่งใสและการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การยอมรับเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำมาตรฐานของแพลตฟอร์ม e-commerce ที่สามารถเชื่อมโยงระบบกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของโลก รวมทั้งครอบคลุมถึงประเด็นที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของระบบ e-commerce ไทยให้แก่ผู้บริโภค อาทิ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ e-commerce มากขึ้นด้วย


สมาชิก WTO มีกำหนดที่จะเจรจาความตกลง e-commerce ครั้งต่อไประหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2562 โดยนอกเหนือจากการเจรจา 3 ประเด็นหลักข้างต้น สมาชิกฯ จะมีการหารือเกี่ยวกับรูปแบบของความตกลงในอนาคตที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุด ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการเจรจาความตกลง e-commerce ในปัจจุบันจะดำเนินไปในรูปแบบของความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) แต่ประเทศที่เข้าร่วมการเจรจายังคงคาดหวังให้ความตกลง e-commerce ฉบับนี้จะเป็นความตกลงพหุภาคีที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศในอนาคต ท้ายที่สุดนี้ เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ความตกลง e-commerce ที่สมาชิก WTO เดินหน้าเจรจาอย่างแข็งขันนี้จะมีสาระสำคัญและประโยชน์อย่างไรต่อการค้ายุคใหม่ รวมทั้งจะมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในการประชุม MC12

ภาพประกอบ: www.wto.org


ไวนิกา อานามนารถ

11 พฤศจิกายน 2562

85 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page