สมาชิก WTO เตรียมเข้าสู่การเจรจาเกษตรอีกครั้ง หลังจากที่หารือเชิงเทคนิคเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็น และแนวปฏิบัติในเรื่องต่างๆ กันมาตั้งแต่สิ้นสุดการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 11 เมื่อปลายปี 2560 แม้ว่าภายใต้การเจรจาเกษตรจะครอบคลุมหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุดหนุนภายใน การลดภาษีสินค้าเกษตร การอุดหนุนส่งออก และมาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร แต่เรื่องที่สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการผลักดันให้มีข้อสรุปมากที่สุดสำหรับการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 ก็คือเรื่องการอุดหนุนภายใน กล่าวคือ การกำหนดข้อห้ามเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเกษตร (ภาษาเทคนิคของ WTO เรียกว่า “การอุดหนุน”) ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ในเวที WTO เท่านั้น
การอุดหนุนอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ การให้เงินในลักษณะที่ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนทางการค้า และการอุดหนุนปัจจัยการผลิต สร้างปัญหาในหลายมิติ ทั้งในด้านการค้าและความมั่นคงทางอาหาร การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลในลักษณะยิ่งผลิตมากยิ่งได้เงินช่วยเหลือมาก ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรล้นตลาดโลกจนทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งยังเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับเกษตรกรของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีงบประมาณมหาศาล ทำให้เกษตรกรในประเทศเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ จนต้องยกเลิกกิจการในที่สุด
แม้ว่าความตกลงเกษตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากข้อสรุปจากการเจรจารอบอุรุกวัยเมื่อปี 2537 จะมีการจำกัดการให้การอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรของสมาชิก แต่ยังมีพื้นที่ให้ประเทศใหญ่ๆ สามารถอุดหนุนได้ในจำนวนเงินมหาศาล โดยปัจจุบันสมาชิก WTO 164 ประเทศมีการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมเกษตรโดยรวมประมาณ 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 71% หรือ 88,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการอุดหนุนของสมาชิกเพียง 4 ประเทศ (อินเดีย จีน สหรัฐฯ และ EU) และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทย ในปี 2559 มีการให้การอุดหนุนไม่ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าไม่มากนัก หากประเมินง่ายๆ นั่นอาจหมายถึงความแตกต่างระหว่างต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยและเกษตรกรของประเทศยักษ์ใหญ่ แล้วเกษตรกรไทยจะสามารถแข่งขันอย่างยุติธรรมในตลาดโลกได้อย่างไร การได้ข้อสรุปในการเจรจาเรื่องการอุดหนุนภายในจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดช่องว่างดังกล่าว และช่วยให้เกษตรกรไทยแข่งขันได้อย่างยุติธรรมในตลาดโลก เพิ่มการส่งออก ตลอดจนป้องกันการผลิตเกินความต้องการของตลาดที่เป็นสาเหตุสำคัญของสภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ด้วยเหตุนี้เอง สมาชิกจึงต้องการผลักดันให้มีข้อสรุปในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนับเป็นบทบาทที่สำคัญของ WTO ในการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของเกษตรกรในประเทศเล็ก ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน
ขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay
อัครพัฒน์ วรรณพฤกษ์
11 พฤศจิกายน 2562
Comments