สมาชิก WTO 164 ประเทศ เตรียมเข้าสู่การเจรจาโค้งสุดท้ายของปี 2562 เพื่อเร่งสรุปผลความตกลงที่จะจัดทำขึ้นใหม่เพื่อกำหนดข้อห้ามในการให้ความช่วยเหลือ (ภาษาเทคนิคของ WTO เรียกว่า “การอุดหนุน”) อุตสาหกรรมประมง อาทิ การให้เงิน การยกเว้นภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่นำไปสู่การประมงผิดกฎหมายหรือเกินขนาดซึ่งเป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเล โดยการจัดทำความตกลง WTO ดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเล ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ได้ขานรับเป้าหมายนี้ และมีมติให้สมาชิก WTO เจรจาจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
การอุดหนุนประมงเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการจับสัตว์น้ำในระดับที่มากเกินควร และไม่สอดคล้องกับกำลังการฟื้นฟูของทรัพยากรตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล รวมไปถึงมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรดังกล่าวในการดำรงชีวิต เป็นแหล่งที่มาของอาหารและการจ้างงาน ดังนั้น การกำหนดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นับเป็นบทบาทที่สำคัญของ WTO ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์และช่วยให้สัตว์น้ำไม่หมดไปจากท้องทะเล
การเจรจาอุดหนุนประมงใน WTO ครอบคลุมการจัดทำกฎกติกาทางการค้าที่จะวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศสมาชิกให้การอุดหนุนกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing) การประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (Overfished) และการประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด (Overcapacity and Overfishing) โดยการเจรจาในช่วงแรกของปีนี้ นำไปสู่การจัดทำเอกสารที่เรียกว่า Working Papers ซึ่งได้รวบรวมเนื้อหาร่างความตกลงและประเด็นที่สมาชิกต้องเจรจาต่อในช่วงที่เหลือของปี 2562 และเร่งหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ภายในสิ้นปีที่จะถึงนี้
ขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay
กมลทิพย์ พสุนธรากาญจน์ จะนู
3 กันยายน 2562
Comentarios