top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

รายงานผลการจัดทำดัชนี GII 2024 ไทยได้อันดับดีขึ้น จาก 43 เป็น 41


Image from WIPO.int


เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 องค์การทรัพย์สินทางปัญญา (WIPO) ได้เปิดตัวรายงานการจัดทำดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ Global Innovation Index (GII) 2024 ซึ่งมีการจัดลำดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศ


รายงานการจัดทำดัชนี GII 2024 ดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก คือ “Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship” โดยรายงานระบุว่า การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างมากในช่วงปี 2566 โดยอัตราการเติบโตของการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ขณะที่ในปี 2565 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนมีอัตราที่เพิ่มขึ้นประมาณ  ร้อยละ 5 ขณะที่ในช่วงตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 8 นอกจากนี้ จำนวนการลงทุนของธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ยังมีการชะลอตัวลง โดยมีอัตรา ลดลงถึงร้อยละ 9.5


อย่างไรก็ดี ในส่วนของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Progress) รายงานฯ ระบุว่า การพัฒนาด้านนวัตกรรมในสาขาสุขภาพ เช่น การจัดลำดับจีโนม การประมวลผลคอมพิวเตอร์และแบตเตอรีไฟฟ้า มีความก้าวหน้าด้วยดี ขณะที่การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว การใช้พลังงานของ Supercomputers และการลดต้นทุนของราคาพลังงานทดแทนยังคงเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตค่อนข้างช้า ขณะที่ในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาใช้ (Technology Adoption) มีความก้าวหน้าในทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน 5G หุ่นยนต์ และยานพาหนะไฟฟ้า


ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก (อันดับ 1) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 67.5 คะแนน ตามด้วยสวีเดน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income economies)


สำหรับประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย 10 อันดับแรก ได้แก่ สิงค์โปร์ (อันดับที่ 4) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 6) จีน (อันดับที่ 11) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 13) ฮ่องกง (อันดับที่ 18) ออสเตรเลีย (อันดับที่ 23) นิวซีแลนด์ (อันดับที่ 25) มาเลเซีย (อันดับที่ 33) ไทย (อันดับที่ 41) และเวียดนาม (อันดับที่ 44)


จีนได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 11 และติดอันดับที่ 1 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle-income economies) ที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมมากที่สุด ทั้งนี้ จุดแข็งของการพัฒนานวัตกรรมของจีนปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ตุรกี อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิหร่าน และโมร็อกโก ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางที่มีการพัฒนาอันดับดัชนีของ GII ตั้งแต่ปี 2556 โดยอินเดีย (อันดับที่ 39) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยมีจุดแข็งคือ การส่งออกบริการ ICT  มูลค่าเงินลงทุนในธุรกิจการร่วมลงทุน มูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา และการประเมินมูลค่าของธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (Unicorn)


สำหรับประเทศในอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ขณะที่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 4) ยังคงเป็นประเทศที่ติดอันดับผู้นำด้านนวัตกรรมสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูงเหมือนกับไทยได้อันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 33 เป็นอันดับที่ 36 ซึ่งเป็นอันดับเดิมในปี 2566 ตามด้วยเวียดนาม (อันดับที่ 44) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 53) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 54) บรูไน (อันดับที่ 88) กัมพูชา (อันดับที่ 103) ลาว (อันดับที่ 111) และเมียนมาร์ (อันดับที่ 125) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า คะแนนรวมตาม GII ของไทยยังตามหลังสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์ถือเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมอันดับ 1 ทั้งของทวีปเอเชียและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในขณะที่มาเลเซียติดอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยมีคะแนนการส่งเสริมนวัตกรรมรวมหลายด้าน เช่น การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าสร้างสรรค์ จำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม  ซึ่งมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก ส่วนเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ ซึ่งมีสมรรถภาพสูงกว่าความคาดหมายหากพิจารณาถึงระดับการพัฒนา โดยมีจุดแข็งในด้านการนำเข้าและส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง และการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์เป็นอันดับ 1 ของโลก และมีการเติบโตของผลิตภาพด้านแรงงาน ติดอันดับที่ 3 ของโลกอีกด้วย


ไทยได้รับการกล่าวถึงในรายงาน GII 2024 ว่า มีความสามารถด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในภาพรวม โดยติด 1 ใน 3 ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงที่มีสมรรถภาพด้านนวัตกรรมสูงกว่า ความคาดหมายหากพิจารณาถึงระดับการพัฒนา (โดยอยู่ในอันดับ 2 รองจากจีน) และได้รับการจัดอันดับดัชนี GII ในอันดับที่ 41 (ดีขึ้นสองอันดับจากอันดับที่ 43 ในปีที่ผ่านมา) อีกทั้งยังมีอันดับดัชนีด้านปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ที่ดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับที่ 41 จากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา และดัชนีปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นโดยอยู่ในอันดับที่ 39 จากอันดับที่ 43 ในปีที่ผ่านมา  สำหรับ จุดแข็ง ไทยยังคงเป็นผู้นำด้านการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Gross Expenditure on R&D: GERD) ในภาคธุรกิจ โดยติดอันดับ 1 ของโลก และยังติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้านผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) (อันดับ 5) การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (อันดับ 7)  การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (อันดับ 8) และการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน (อันดับ 8) สำหรับจุดอ่อนของไทย ได้แก่ การส่งออกและนำเข้าบริการ ICT  การลงทุนในภาคการศึกษา ผลิตภาพแรงงาน และการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เป็นต้น


13 views0 comments

Comments


bottom of page