top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

รายงานการค้าโลกประจำปี 2567


Image by wto.org


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ระหว่างการจัดงาน WTO Public Forum 2024 ได้มีการเปิดตัวเอกสารรายงานการค้าโลกประจำปี 2567 (World Trade Report 2024) โดยนาย Ralph Ossa ตำแหน่ง WTO Chief Economist ได้นำเสนอสาระสำคัญของรายงานดังกล่าว โดยเน้นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมทางการค้า (Trade Participation) กับการลดลงของความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างเศรษฐกิจต่าง ๆ และสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) สามารถช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างกันได้เฉลี่ยถึงร้อยละ 140


รายงานการค้าโลกฉบับนี้ ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ภายหลังจากการก่อตั้ง  WTO เมื่อ 30 ปีก่อน ได้ส่งผลให้รายได้ทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงระหว่างปี 2538 ถึง 2566 รายได้ประชาชาชาติต่อหัวของทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 โดยประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนี้ได้มีส่วนช่วยลดความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ อัตราการเสียชีวิตของทารก และเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ และไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นความก้าวหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว แต่ทั่วโลกยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ (Income Inequality) เนื่องจากมักมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า โลกาภิวัตต์ (Globalization) มักจะให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและบุคคลที่มีฐานะร่ำรวย แต่ได้ทิ้งกลุ่มคนที่ถูกละเลยไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น การระบาดของโรคโควิด19 ได้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทาน ทั่วโลก และสร้างความกังวลว่า โลกาภิวัตต์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่มากเกินไป อีกทั้งแม้ว่าจะมีความพยายามในการลดความยากจน แต่ข้อเท็จจริงคือ ยังมีผู้คนอีกกว่า 712 ล้านคน ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในข่ายของความยากจน


รายงานการค้าโลกประจำปี 2024 มีเป้าหมายที่จะสำรวจว่า การค้าและนโยบายต่าง ๆ สามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Inclusivity) ในเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร โดยพบว่า แม้การค้าจะช่วยลดความยากจนและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน รายงานดังกล่าวจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการการค้าเสรีกับนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่า จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดั การค้าเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยังคงต้องอาศัยความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง และการดำเนินงานที่สอดคล้องกันระหว่าง WTO และองค์กรอื่น ๆ ด้วย


ใน Chapter B ของรายงานฯ ยังได้ระบุถึงความท้าทายที่บางเศรษฐกิจต้องเผชิญในการบูรณาการเข้ากับตลาดโลกและการกระจายความเสี่ยง โดยรายงานเน้นว่า การค้าเสรี และนโยบายที่อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustained Economic Growth)  อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อยและปานกลางและประเทศที่ร่ำรวยจะมีการเติบโตอย่างก้าวหน้าขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2550-2551 และมีการถดถอยของเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19


โดยระหว่างปี 2538-2566 เศรษฐกิจที่มีรายได้น้อยและปานกลางมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (Per capita Income) เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า ในขณะที่รายได้ทั่วโลก (Global Income) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 65 ซึ่งการค้ามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยการส่งเสริมผลิตภาพ (Productivity) ผ่านการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economic of Scale) การขยายการใช้เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในทุกที่ เนื่องจากเศรษฐกิจบางแห่ง โดยเฉพาะในแอฟริกา ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ยังคงประสบปัญหาเนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ต้นทุนการค้าที่สูง (High Trade Cost) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี และการขาดการกระจายความเสี่ยงในการส่งออก


นอกจากนี้ อุปสรรคต่าง ๆ อาทิ อัตราภาษีศุลกากรที่สูง สถาบันทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศที่จำกัด ยังทำให้บางประเทศไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโลกาภิวัตต์ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการนำเทคโนโลยีมาใช้ ยังไม่ได้มีการดำเนินการที่ชัดเจนเนื่องจากข้อจำกัดด้านนโยบาย การขาดการลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พัฒนา


ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Change) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ยังได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ขณะที่การลดต้นทุนการค้าและการกระจายของห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVC) ยังถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำโดยการค้า ซึ่งรายงานฉบับนี้ เห็นว่า การมีนโยบายในประเทศที่เสริมซึ่งกันและกันในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การดูดซับเทคโนโลยี (Technological Absorption) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Business Environment Improvement) เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Inclusiveness) สามารถสร้างชนชั้นกลางที่มั่นคง ส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวและการลดความยากจน


ใน Chapter C ของรายงาน ได้ระบุถึงปัจจัยที่ป้องกันไม่ให้บุคคลได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการค้า และความสำคัญของการเปิดกว้างทางการค้าควบคู่ไปกับนโยบายในประเทศที่ให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการค้า พร้อมย้ำว่า การค้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยนับตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2566 อัตราความยากจนในเศรษฐกิจดังกล่าวได้ลดลงอย่างมาก แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด 19 จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มดังกล่าว


รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า แม้การค้าจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ (Income Inequality) ยังคงสูงทั่วโลก และประชาชนในระบบเศรษฐกิจยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้ายังอาจนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการนำเข้า และการสร้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า (Better-paying Jobs) ในภาคส่วนที่กำลังเติบโต อย่างไรก็ตาม ความสามารถของบุคคลในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้ได้รับประโยชน์จากการค้า ขณะที่ประชาชนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ภาคส่วนธุรกิจ หรือพื้นที่ชนบท รวมถึงผู้หญิง ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในการปรับตัวเนื่องจากมีทักษะ หรือการเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัด


นอกจากนี้ นโยบายคุ้มครองการค้า (Trade Protection Policy) ที่มีเป้าหมายหมายเพื่อปกป้องกลุ่มคนบางกลุ่มอาจส่งผลให้เกิดต้นทุนที่สูงและอาจส่งผลกระทบเชิงลบโดยไม่ได้ตั้งใจต่อภาคส่วนอื่น ๆ และเศรษฐกิจโดยรวม  อีกทั้งข้อจำกัดทางการค้า (Trade Restrictions) เช่น ภาษีศุลกากร (Tariff) และการจำกัดการส่งออก (Export Limitations) อาจทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น


รายงานระบุว่า การมีส่วนร่วมทางการค้า (Inclusiveness in Trade) ถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น การปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitalization) สามารถเพิ่มการเข้าถึงโอกาสทางการค้าได้ แต่ก็อาจสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ที่คล้ายคลึงกับการแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าด้วย ทั้งนี้ การกำจัดอุปสรรคทางการค้าที่เลือกปฏิบัติ (Discriminatory Trade Barriers) และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) สตรี และกลุ่มที่มีรายได้น้อยสามารถส่งเสริมให้ระบบการค้ามีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการปฏิรูป เช่น การกำจัดภาษีศุลกากรที่ลำเอียง และการปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางการค้า


ขณะที่นโยบายภายในประเทศที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น การปรับตลาดแรงงาน การศึกษา นโยบายการแข่งขัน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้การค้ามีความครอบคลุมมากขึ้น และรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบายที่สนับสนุนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม


ใน Chapter D ของรายงานฯ ได้สำรวจว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการค้าและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมความครอบคลุม (Inclusiveness) ทั้งในระดับประเทศและภายในเศรษฐกิจได้อย่างไร นอกจากนี้ รายงานยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการประสานงานระหว่างองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขยายการมีส่วนร่วมและความครอบคลุมทางเศรษฐกิจ


WTO มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความครอบคลุมโดยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่คาดเดาได้และยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ (Predictable and Rules-based Multilateral Trading System)  ซึ่งทำให้เศรษฐกิจกำลังพัฒนาจำนวนมากสามารถบูรณาการเข้ากับระบบการค้าโลกได้ เช่น การเป็นสมาชิก WTO ทำให้การค้าระหว่างสมาชิกเพิ่มขึ้นร้อยละ 140 นอกจากนี้ WTO ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านการปฏิรูปที่ประเทศต่าง ๆ เช่น การลดภาษีศุลกากร การปรับปรุงกฎระเบียบ และการเสริมสร้างสถาบันให้แข็งแกร่ง เป็นต้น


นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นพิเศษ (Flexibilities) ภายในความตกลงต่าง ๆ ของ WTO โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ได้ช่วยให้เศรษฐกิจเหล่านี้สามารถบูรณาการเข้ากับการค้าโลกได้ ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) และความคิดริเริ่มด้านความช่วยเหลือทางเทคนิกสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกของประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น โดยลดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการค้า


อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขอุปสรรคที่ยังคงขัดขวางไม่ให้บางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยากจนที่สุด ได้รับประโยชน์จากการค้าอย่างเต็มที่ การมีส่วนร่วมที่มากขึ้นใน WTO โดยเฉพาะจากสมาชิกที่กำลังพัฒนา อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ครอบคลุมมากขึ้นและการมีตัวแทนในการเจรจาและอยู่ในคณะกรรมการต่าง ๆ  การเสริมสร้างกลไกการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanisms) และการรับรองการตรวจสอบการค้าอย่างทันท่วงทีถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบการค้าที่ครอบคลุมมากขึ้น


นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มากขึ้นยังมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การค้าดิจิทัล บริการ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำข้อตกลงอำนวยความสะดวกการลงทุน     มาใช้และการพัฒนากรอบการค้าดิจิทัลเป็นตัวอย่างสำคัญของการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตของการค้าในอนาคต


รายงานยังระบุว่า การรักษาสมดุลระหว่างข้อผูกพันที่มีผลผูกพัน (Balancing binding commitment) กับความยืดหยุ่น (Flexibilities) ที่มีประสิทธิผลยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมความครอบคลุม และถึงแม้ว่า จะมีข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติการปฏิบัติพิเศษและแตกต่างกัน (S&DT) แต่ความท้าทายอยู่ที่การค้นหาสมดุลที่ปรับให้ข้อผูกพันดังกล่าวสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศที่จะนำไปใช้ปฏิบัติโดยไม่กระทบต่อการยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้า โดยความยืดหยุ่นที่นำมาใช้ในความตกลง เช่น ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) สามารถทำหน้าที่เป็นแบบจำลองโดยเชื่อมโยงการนำไปปฏิบัติดังกล่าวของประเทศสมาชิก รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าระดับภูมิภาค (RTA) ซึ่งมีข้อบทเกี่ยวกับความครอบคลุมที่เพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงาน สิทธิสตรี และการส่งเสริม MSMEs ข้อบทดังกล่าวยังมีเป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่า กลุ่มเปราะบางจะได้รับประโยชน์จากการค้า และประเด็นตลาดแรงงานบางประเด็น เช่น แรงงานเด็ก จะได้รับการแก้ไข เป็นต้น


นอกจากนี้  WTO ยังสนับสนุนความครอบคลุมทางเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจน ซึ่งช่วยยกระดับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยไม่มีความตกลงใดของ WTO ที่จำกัดการใช้นโยบายในประเทศที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความครอบคลุม เช่น นโยบายด้านการศึกษา ภาษี หรือตลาดแรงงาน นโยบายดังกล่าวสามารถช่วยแก้ไขการบิดเบือนเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดการค้าที่ไม่เท่าเทียมกัน


WTO ยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงความครอบคลุมที่เน้นไปที่การเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ในการค้า โดยมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานของ WTO เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) และการค้าและเพศสภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขข้อจำกัดเฉพาะที่กลุ่มเหล่านี้เผชิญ แผนการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) กรอบการทำงานแบบบูรณาการ' (Enhanced Integrated Framework – EIF)  และ โครงการพัฒนาการค้าและมาตรฐาน (Standards and Trade Development Facility: STDF) ยังมีส่วนช่วยให้การค้ามีความครอบคลุมมากขึ้น โดยการบูรณาการการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี (Women Empowerment) และการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย


กล่าวโดยสรุป รายงานการค้าโลกประจำปี 2567 นี้ จะมีส่วนช่วยให้สมาชิก WTO ได้รับความรู้ในการกำหนดนโยบายการค้าที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้สามารถจัดการกับความซับซ้อนของการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

45 views0 comments

Comments


bottom of page