เมื่อพิจารณาแนวโน้มการออกมาตรการเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรปในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการอุปโภคและบริโภคน้ำมันปาล์มให้น้อยลง โดยได้นำเอาประเด็นทั้งในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น การบุกรุกทำลายป่าไม้ มาใช้เป็นข้ออ้างในการออกกฏระเบียบต่างๆเที่ส่งผลต่อการลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์ม
ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หน่วยงาน European Food Safety Authority (EFSA) ได้เคยออกเอกสารปี 2560 แจ้งเตือนว่า น้ำมันปาลม์สำหรับปรุงอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตในอุณหภูมิที่สูงเกิน ๒๐๐ องศาเซลเซียส มีความเสี่ยงต่อการเกิดสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะไขมันกลุ่ม Glycidyl Esters (GE) และ 3-MPCD ในน้ำมันปาลม์ทำให้เกิดมะเร็งและเป็นพิษได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการบริโภคน้ำมันปาล์ม ขณะที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ระบุชัดเจน และผลการศึกษาของ WHO และ FAO ในขณะนั้นระบุว่าผู้บริโภคยังไม่ควรวิตกมากเกินไปตามผลการศึกษาของ EFSA
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ ได้มีการติดฉลากปลอดน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Free Labeling) ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าน้ำมันปาล์ม โดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกของโลก และประเทศในแถบอเมริกาใต้ ได้ร่วมกันแสดงข้อกังวลต่อประเด็นดังกล่าวต่อสหภาพยุโรปในที่ประชุมคณะกรรม การมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าขององค์การการค้าโลก ด้วย
ส่วนในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น สหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืชอาหาร รวมถึงน้ำมันปาล์มภายในปี พศ. 2573 โดยได้นำเอาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (Indirect Land Use Change – ILUC) และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาพิจารณาในการปรับปรุงกฏระเบียบดังกล่าว
ถึงแม้ในปัจจุบัน ไทยจะมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (Crude Palm Oil and Palm Oil) ไปยังสหภาพยุโรปในปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นได้ว่า แนวโน้มกฏระเบียบที่เกี่ยวกับน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรป อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันปาล์มหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มของไทยไปยังประเทศอื่นได้ และที่สำคัญ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปในการออกกฎระเบียบที่มีลักษณะเดียวกันกับสินค้าพืชเกษตรที่สำคัญชนิดอื่นๆ
ดังนั้น การดำเนินการการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรป จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวเป็นอย่างยื่ง
ดร.พรเทพ ศรีธนาธร
22 กรกฎาคม 2562
ขอขอคุณภาพข่าวจาก https://www.frontlinenews.digital
Comments