top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

จับตาสหรัฐฯ ยกเลิกแต้มต่อสำหรับประเทศกำลังพัฒนา



สหรัฐฯ ผลักดันยกเลิกการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง หรือ special and differential treatment แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี


ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศบันทึกประธานาธิบดี สั่งการให้หน่วยงานของสหรัฐฯ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการให้การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยสหรัฐฯ มองว่า การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างควรให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เหมาะสมจะได้รับ มิใช่ให้กับทุกประเทศที่อ้างตนว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน เกาหลีใต้ บรูไน ซึ่งแม้จะอ้างตนว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ไม่ควรจะได้รับการยืดหยุ่นจากกฎเกณฑ์ของ WTO และไม่ควรได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง


สหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐฯ จะไม่ถือปฏิบัติต่อประเทศกำลังพัฒนาว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจาในปัจจุบันและอนาคต หากสหรัฐฯ เห็นว่า ไม่เหมาะสม ซึ่งสหรัฐฯ เคยเสนอเงื่อนไขในการประเมินประเทศกำลังพัฒนาที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีใน WTO ดังนี้ (1) เป็นสมาชิก OECD หรือสมาชิกที่เริ่มกระบวนการภาคยานุวัติเข้าสู่ OECD (2) เป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 (3) เป็นประเทศที่ได้รับการจัดลำดับจากธนาคารโลกว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (high income) และ (4) เป็นสมาชิกที่สัดส่วนการค้าสินค้าระหว่างประเทศ (นำเข้าและส่งออก) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของการค้าโลก


หากดูตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 0.5 ทำให้ตกอยู่ในหลักเกณฑ์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ รวม 34 ประเทศก็ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น


หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวภายใต้ WTO ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เห็นว่า หลักการนี้เป็นหลักการที่ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความยืดหยุ่น และตอบสนองต่อความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างของการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ


ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จาก SDT ในการเจรจา เช่น การได้แต้มต่อในเรื่อง การเปิดตลาด การลดภาษี การอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง หากประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้รับสิทธิพิเศษเช่นเดิม จะเสมือนว่า ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีสถานะการเจรจาเท่าเทียมกัน และประเทศกำลังพัฒนาจะไม่มีแต้มต่อในการเจรจาอีกต่อไป


ในการประชุม WTO เมื่อ 14 ตุลาคม 2562 ประเทศไทยได้ผนึกกำลังร่วมกับสมาชิกอาเซียนยืนหยัดหลักการการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างว่า ยังคงมีความจำเป็นสำหรับ WTO และระบบการค้าพหุภาคี ไทยในฐานะผู้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนยังย้ำว่า การเปิดโอกาสให้สมาชิกประเทศกำลังพัฒนา​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีทางเลือกระดับพันธกรณีในความตกลงใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทั้งหมด


ในการนี้ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการ ประธานาธิบดีทรัมป์จึงสั่งการให้ USTR ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบของสหรัฐฯ จะต้องประกาศรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ เชื่อว่าไม่เหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์ในฐานะกำลังประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ WTO โดย USTR สามารถปฏิบัติ ดังนี้ ๑) ไม่ถือปฏิบัติประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา และ ๒) ไม่สนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก OECD ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2562


ในขณะนี้ ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่า สหรัฐฯ จะประกาศรายชื่อประเทศเมื่อใด และจะปฏิบัติอย่างไรต่อประเทศที่สหรัฐฯ จะไม่ให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง สิ่งที่เป็นข้อห่วงกังวลกันมาก คือ สหรัฐฯ อาจใช้แนวทางบีบเป็นรายประเทศ รวมทั้งการตัด GSP ก็อาจเป็นหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ นำมากดดันประเทศต่าง ๆ ให้ยอมรับเงื่อนไขของตน ในขณะนี้ มีสมาชิก WTO ที่ได้สละสิทธิ S&DT ตามแนวทางของสหรัฐฯ แล้ว ได้แก่ บราซิล ไต้หวัน และสิงคโปร์ และยังปรากฏข่าวในสื่อว่า เกาหลีใต้ด้ตัดสินใจสละสิทธิ S&DT แล้ว แต่ยังไม่ประกาศอย่าง เป็นการ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่ภาคเกษตร


ตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นรายชื่อบัญชีประเทศที่สหรัฐฯ จะไม่ให้การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างอีกต่อไป หากไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับภายใต้การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และการอุดหนุนประมงซึ่งกำลังเจรจาอยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว และจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า สหรัฐฯ จะประกาศขึ้นรายชื่อบัญชีรายชื่อประเทศใดบ้าง และมีมาตรการต่อเนื่องอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ในเดือนมิถุนยายน 2563 ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองอย่างต่อเนื่องต่อสมาชิก WTO ให้ยอมรับแนวทางของสหรัฐฯ ในที่สุด


กาจฐิติ วิวัธวานนท์/อัครพัฒน์ วรรณพฤกษ์

23 ตุลาคม 2562

200 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page