top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

การใช้ประโยชน์ในการสืบค้นสิทธิบัตรจาก PATENTSCOPE ของ WIPO


ปัจจุบัน มีระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาให้นักประดิษฐ์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ที่สนใจเข้าสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรได้จากหลายแหล่ง เช่น European Patent Officeของยุโรป US Patent and Trademark Office ของสหรัฐอเมริกา และ Japan Patent Office ของญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งในส่วนของไทยเอง กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรออนไลน์ที่เรียกว่า Search Patent System ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรได้ทั่วโลก โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิบัตรกับฐานข้อมูลของประเทศต่าง ๆ และฐานข้อมูลสิทธิบัตรขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ World Intellectual Property Organization (WIPO) ด้วย


WIPO เอง ในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้พัฒนาฐานข้อมูลการสืบค้นสิทธิบัตรจากทั่วโลกที่เรียกว่า PATENTSCOPE ขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูลสิทธิบัตรจากประเทศสมาชิก และให้บริการในการสืบค้นข้อมูล โดยฐานข้อมูลดังกล่าว มีข้อมูลสิทธิบัตรภายใต้กรอบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty –PCT) และฐานข้อมูลสิทธิบัตรจากประเทศต่าง ๆ จำนวนกว่า 83 ล้านฉบับ โดยสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ https://www.wipo.int/patentscope/en/


ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้น WIPO ได้พัฒนา PATENTSCOPE โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) มาใช้ในการช่วยแปลข้อมูลสิทธิบัตรในระบบเป็นภาษาต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อารบิก เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย จีน และโปรตุเกส


ข้อมูลสิทธิบัตรดังกล่าว จะมีส่วนช่วยให้นักประดิษฐ์หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ตรวจสอบว่า สิ่งที่เราคิดค้น ประดิษฐ์ และออกแบบขึ้นมานั้น มีใครเคยทำมาแล้วหรือไม่ หรือที่เรียกว่า มีความใหม่หรือไม่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้ว่า สิ่งประดิษฐ์ของเรานั้น เข้าข่ายที่จะได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือไม่ และเพื่อให้แน่ใจว่า เรามิได้ละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นมาใช้ในการวางแผนธุรกิจ เช่น

การอนุญาตใช้สิทธิ และการประเมินคู่แข่ง และการประเมินทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตด้วย


นอกเหนือจากนั้นแล้ว เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากการศึกษาข้อมูลสิทธิบัตรที่ไม่มีการคุ้มครองในประเทศนั้น ๆ หรือที่หมดอายุการคุ้มครองแล้วมาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดนวัตกรรมได้ด้วย เนื่องจากในฐานข้อมูลจะมีการเปิดเผยข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะการมีรายละเอียดของการประดิษฐ์ รูปเขียน รายละเอียดหลักๆ ของงานประดิษฐ์ซึ่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาต่อยอดได้


ในด้านกฎหมายเอง การที่เราได้ศึกษาข้อมูลสิทธิบัตรประเภทต่าง ๆ ทำให้เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการ

ให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ครอบครอง ระยะเวลาของการคุ้มครองสิทธิบัตร และสถานะทางกฎหมาย เช่น ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการรอการพิจารณา เป็นต้น


ล่าสุด ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 นั้น WIPO ยังได้พัฒนา PATENTSCOPE ให้สามารถสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 ทั้งในส่วนของการค้นหาต้นตอการเกิดโรค การป้องกันและการรักษาโรคด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และบุคลากรที่อยู่ในวงการการแพทย์และสาธารณสุขสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://patentscope.wipo.int/search/en/covid19.jsf


จะเห็นได้ว่า ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการสืบค้นสิทธิบัตร PATENTSCOPE นั้น มีประโยชน์มากมายในหลาย ๆ ด้าน จึงเห็นว่า ควรที่หลาย ๆ ฝ่ายจะได้เผยแพร่เรื่องราวนี้ให้นักประดิษฐ์ของไทยในวงการต่าง ๆ ได้รับทราบและ

ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่อไป


*****************************

ดร.พรพิมล สุคันธวณิช

738 views0 comments

Comments


bottom of page