Image : wipo.int
สมาชิกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้บรรลุการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรม (WIPO Treaty on Intellectual Property, Genetic Resources and Associated Traditional Knowledge) ในระหว่างการประชุมทางการทูต (Diplomatic Conference) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-24 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ WIPO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
สนธิสัญญาประวัติศาสตร์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจะต้องเปิดเผยประเทศต้นทาง หรือแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หากองค์ประกอบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งประดิษฐ์ในการขอรับสิทธิบัตร สนธิสัญญาฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการนำเอาทรัพยากรพันธุกรรมและความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศกำลังพัฒนาที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ไปใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม
ประเทศสมาชิกของ WIPO ได้ให้การรับรองสนธิสัญญาดังกล่าวด้วยฉันทามติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมทางการทูต ภายหลังจากการเจรจาอย่างเคร่งเครียดรวมสองสัปดาห์ที่นครเจนีวา ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า การบรรลุการเจรจาสนธิสัญญาดังกล่าวถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ภายหลังจากนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกรอบกฎหมายของประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อให้มีการบังคับใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของทรัพยากรพันธุกรรมและความรู้ดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนพื้นเมือง (indigenous people) และชุมชนท้องถิ่น (local communities) ต่อไป
จากข้อมูลในสื่อต่างประเทศ ระบุว่า ที่ผ่านมา มีเพียง 35 ประเทศเท่านั้น ที่มีกฎหมายหรือระเบียบในการให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในบางรูปแบบ โดยมีหลายประเทศที่มิได้มีการบังคับ หรือมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางมาตรฐานสากล และเป็นการยอมรับในเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา และทำให้เชื่อมั่นว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการเปิดเผยแหล่งที่มา และจะได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาในระดับโลก
เป้าหมายหลักของสนธิสัญญาฯ ซึ่งผ่านการเจรจามาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ที่สำคัญคือ การเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม เช่น ทรัพยากรพันธุกรรมที่พบในพืชสมุนไพร พืชผลทางการเกษตร และพันธุ์สัตว์ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ยา และเทคโนโลยีชีวภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงการให้การชดเชยแก่ชนพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่น แต่รากฐานของสนธิสัญญาฯ ที่ได้จัดทำขึ้นนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นที่รับทราบได้ถึงบทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมที่มีมาแต่เดิม
ทั้งนี้ สนธิสัญญาฯ ได้กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมและชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นที่ให้ความรู้ดั้งเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งประดิษฐ์เป็นสิ่งใหม่อย่างแท้จริง และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของโดยชอบธรรม พร้อมทั้งกำหนดให้ประเทศภาคีสามารถกำหนดบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม แต่อนุญาตให้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมีโอกาสในการแก้ไขคำขอให้ถูกต้องก่อนที่จะใช้บทลงโทษ โดย สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ประเทศได้ให้สัตยาบัน
หากพิจารณาในรายละเอียด สาระสำคัญหลักของสนธิสัญญาฯ ได้แก่
1. การเปิดเผยแหล่งที่มา (Disclosure Requirement)
ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องเปิดเผยประเทศต้นกำเนิด (Country of Origin) ของทรัพยากรพันธุกรรม หากไม่ทราบที่มาก็ต้องเปิดเผยแหล่งที่มา (Source) หากมีแหล่งที่มาหลายแห่ง จะต้องเปิดเผยตำแหน่งของสถานที่ที่ได้รับทรัพยากร
ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องเปิดเผยชนเผ่าพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นที่ให้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น หากไม่ทราบจะต้องเปิดเผยแหล่งที่มา (Source) เช่น วรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์หรือฐานข้อมูลสาธารณะ
หากไม่ทราบที่มา ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องจัดทำคำแถลงการณ์ (Declaration) ว่า การไม่ทราบแหล่งที่มานั้น เป็นความจริงและได้ทำอย่างสุดความสามารถ ขณะที่สำนักงานสิทธิบัตรจะต้องให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและโอกาสในการแก้ไขข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการในการเปิดเผยแหล่งที่มา โดยการเปิดเผยแหล่งที่มาจะต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทั้งนี้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลนี้นี้ จะไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบคำขอสิทธิบัตรที่ได้มีการยื่นก่อนการเข้าเป็นภาคีของประเทศสมาชิก เว้นแต่ประเทศนั้น จะมีกฎหมายภายในที่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยแหล่งที่มาอยู่แล้วก่อนการเข้าเป็นภาคี
2. การนำไปปฏิบัติ (Implementation)
สนธิสัญญาฯ ได้รับการออกแบบให้นำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยเชิงอรรถของมาตรา 7 ของสนธิสัญญาฯ ระบุว่า ทุกฝ่ายจะพยายามแก้ไขสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) ต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ขอรับสิทธิบัตรที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายภายในของบางประเทศที่กำหนดไว้ จะสามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศและในประเทศอื่น ๆ ได้
3. การมีผลใช้บังคับ
สนธิสัญญาฯ จะมีผลใช้บังคับสามเดือนหลังจากมี 15 ประเทศได้ให้ให้สัตยาบัน พร้อมทั้งระบุถึงบทบัญญัติเฉพาะที่อนุญาตให้สหภาพยุโรปเข้าร่วมได้
4. บทลงโทษและมาตรการเยียวยา
สนธิสัญญาฯ ไม่อนุญาตให้สิทธิบัตรเป็นโมฆะ หากไม่เปิดเผยข้อมูล แต่อนุญาตให้ใช้บทลงโทษภายหลังการให้สิทธิ์ได้หากพบว่า มีเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ (fraudulent intent) ในการเปิดเผยข้อมูล
แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน แต่สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการยกย่องว่า เป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ภายหลังจากการเจรจาอย่างยาวนาน 25 ปี โดยหลายฝ่ายมองว่า ถือเป็นการดำเนินการเชิงบวกสำหรับการดำเนินงานภายใต้กรอบพหุภาคีในการส่งส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในระบบทรัพย์สินทางปัญญา และสนธิสัญญาดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของการแสดงออกซึ่งความพยายามระหว่างประเทศในการปกป้องทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในส่วนของไทยนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ระบุในเอกสารข่าวของกรมฯ ว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ทำให้การนำทรัพยากรธรมชาติมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรม การปกป้องสิทธิของชุมชนเจ้าของภูมิปัญญา และการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ประจำถิ่นทำควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับหลักการของสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าวต่อไป
Comments