top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

การค้าอาหารผิดกฎหมายและอาหารปลอม (Food Fraud) ปัญหาที่ต้องแก้ไข



เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้เปิดตัวรายงานเรื่องการค้าอาหารผิดกฎหมายและอาหารปลอม (Illicit Trade in Food and Food Fraud) ซึ่งจัดทำร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) องค์กร SSAFE ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรด้านความปลอดภัยของอาหาร สมาพันธ์เมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ (International Seed Federation: ISF) และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ในสาขาความปลอดภัยด้านอาหารและสาขาอาหาร เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการค้าอาหารผิดกฎหมายและอาหารปลอม และบทบาทของ WTO ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ตามเอกสารรายงาน WTO ดังกล่าว ได้จำกัดความการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายและอาหารปลอม (Illicit trade in food and food fraud) ว่า เป็น “การซื้อและขายผลิตภัณฑ์เพื่อรับประทาน ดื่ม หรือปลูก ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขภาพและกฎระเบียบอื่น ๆ (เช่น ด้านคุณภาพ) และมีการลักลอบนำเข้า หรือผลิต หรือซื้อขายนอกตลาดที่ถูกกฎหมาย” ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบการค้าและสาธารณสุขระหว่างประเทศ


แม้ว่าการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายและอาหารปลอมจะเป็นเรื่องยาก แต่จากสถิติขององค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (Transnational Alliance to Combat Illicit Trade: TRACIT) ได้มีการทำการศึกษาและระบุในรายงานขององค์กรว่า  สินค้าเกษตรที่ปลอม ไม่ได้มาตรฐาน มีการลักลอบนำเข้า และผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 30-50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ซึ่งไม่รวมถึงความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)


นอกจากนี้ การฉ้อโกงหรืออาหารปลอมยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการค้าด้วย โดยทำให้ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันหรือในหมวดหมู่สินค้าเดียวกันเสียหาย อีกทั้งยังทำให้ชื่อเสียงของผู้จำหน่ายสินค้าเสื่อมเสียและลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย


ตัวอย่างสินค้าที่ตกเป็นเป้าหมายของการปลอมหรือโกงมากที่สุดซึ่งระบุในเอกสารรายงานของ WTO เช่น


(1) เนื้อสัตว์ โดยอาจมีการทดแทนและการติดฉลากที่ไม่ถูกต้อง โดยมีการนำเนื้อสัตว์คุณภาพต่ำหรือราคาถูกกว่ามาติดฉลากจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าหรือคุณภาพสูงกว่า ตัวอย่างเช่น เนื้อม้าอาจถูกจำหน่ายและระบุว่า เป็นเนื้อวัวได้ โดยในเอกสารรายงานของ WTO ซึ่งนำข้อมูลมาจากเว็บไซต์ https://www.inecta.com/blog/5-biggest-food-fraud-cases#:~:text=Here%20are%20some%20examples%20 of,be%20sold%20as%20wild%2Dcaught ระบุว่า การค้าเนื้อสัตว์ปลอม มีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 168 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(2) อาหารทะเล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า มีการนำพันธุ์ปลาที่มีราคาต่ำกว่ามาติดฉลากเป็นปลาที่มีราคาแพง หรือปลาที่เลี้ยงไว้อาจมีการจำหน่ายและระบุว่า เป็นปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ โดยเอกสารรายงานว่า อาหารทะเลที่มีการปลอมมีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(3) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสุราและไวน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งอาจมีการปลอมแปลงและการลักลอบจำหน่ายสินค้า โดยนำสุราและไวน์ที่มีถูกกว่า มีการปลอม หรือปลอมปน แล้วนำมาจำหน่ายในราคาที่สูง โดยเอกสารรายงานว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปลอม มีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(4) กาแฟ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจมีกลโกง โดยการเติมส่วนผสมที่ถูกกว่า เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือกิ่งไม้เข้าไป หรือมีการติดฉลากแหล่งกำเนิดหรือประเภทของเมล็ดกาแฟที่ไม่ถูกต้อง โดยเอกสารรายงานว่าการจำหน่ายกาแฟปลอม มีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(5) นม อาจมีกลโกง โดยการเติมน้ำหรือสารอื่น ๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มปริมาณและลดต้นทุน ซึ่งทำให้คุณภาพและความปลอดภัยของนมลดลง  โดยเอกสารรายงานว่า การจำหน่ายนมปลอม มีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(6) น้ำผักและน้ำผลไม้ โดยมีการเจือจางด้วยน้ำหรือน้ำผลไม้อื่น ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณและลดต้นทุน รวมถึงมีการติดฉลากแหล่งกำเนิดหรือชนิดของผักและผลไม้ไม่ถูกต้อง โดยเอกสารรายงานว่า การจำหน่ายน้ำผักและน้ำผลไม้ปลอม มีมูลค่ารวมทั่วโลกในปี 2564 สูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


(7) เครื่องเทศ อาจมีการใช้ส่วนผสมที่มีราคาถูกกว่า เช่น สารตัวเติมเต็ม หรือสีเทียม เช่น ผลิตภัณฑ์ขมิ้นผงอาจมีการเจือปนด้วยสารตะกั่วโครเมตที่มีสีเหลือง (lead chromate) ซึ่งเป็นสารพิษ เป็นต้น


จากสถานการณ์ดังกล่าว เอกสารรายงานของ WTO ได้นำเสนอข้อเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายและอาหารปลอม อาทิ เข่น


(1) การลดข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออก เอกสารระบุว่า การลักลอบขนและจำหน่ายสินค้าเกษตรนั้น ส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากความแตกต่างของราคาสินค้าที่แหล่งกำเนิดและราคาสินค้าที่ปลายทาง ซึ่งความแดกต่างของราคาดังกล่าวอาจรวมถึงส่วนต่างของราคาที่ได้มาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น การเจรจาด้านการเกษตรของ WTO ที่กำลังดำเนินอยู่ และมีเป้าหมายเพื่อลดความซับซ้อนของโครงสร้างภาษี ลดภาษีศุลกากรที่สูงเกินไปและการอุดหนุนที่บิดเบือนทางการค้า รวมถึงการแก้ไขข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออก จะมีส่วนช่วยในการลดแรงจูงใจในการลักลอบขนและจำหน่ายสินค้าอาหารที่ผิดกฎหมายได้


(2) การบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารที่ทันสมัย การมีกฎระเบียบในการตรวจจับ การป้องกัน การบรรเทา และการควบคุมอาหารปลอมแบบองค์รวมจะช่วยลดโอกาสของการค้าผิดกฎหมายได้


(3) การดำเนินการสอบสวนอย่างทันท่วงทีและทั่วถึง การดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดกฎหมาย และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงและความเสี่ยงของอาหารปลอมที่มีต่อสุขภาพของประชาชนมีความจำเป็นอย่างมาก และ เจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นผู้ที่มีมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้


(4) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นในการออกแบบแนวทางป้องกันการค้าอาหารผิดกฏหมาย และจำเป็นที่จะต้องมีการป้องกัน แก้ไขและปกป้องผู้บริโภคให้มากขึ้น


นอกจากนี้ WTO ยังมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินการตามความตกลงภายใต้ WTO ที่มีอยู่ในด้านความปลอดภัยของอาหาร อาทิ  (1) ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS Agreement) ซึ่งอนุญาตให้สมาชิก WTO ควบคุมการนำเข้าอาหารให้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์และเทคนิคการประเมินความเสี่ยง (2) ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT Agreement) ซึ่งช่วยให้สมาชิก WTO สามารถจัดการกับพฤติกรรมการหลอกลวงด้านการค้าได้  (3) ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) ซึ่งสามารถช่วยสมาชิก WTO ในการลดขั้นตอนศุลกากรที่ยุ่งยากมากเกินไป และการปฏิบัติที่ล่าช้าที่จุดผ่านชายแดน (4) ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Agreement on the Trade-related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) อาจเป็นประโยชน์สำหรับสมาชิก WTO ในการจัดการกับปัญหาอาหารและเครื่องดื่มปลอม และ (5) ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (The Agreement on Fisheries Subsidies) ยังห้ามไม่ให้มีการสนับสนุนการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) รวมถึงการให้เงินอุดหนุนสำหรับการทำการประมงเกินปริมาณ (overfished stocks) และเงินอุดหนุนการประมงในทะเลหลวงที่ไม่ได้รับการควบคุมด้วย


ทั้งนี้ เอกสารของ WTO ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายอยู่ที่การป้องกัน โดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ควรมีมาตรการในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การตรวจจับการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายและอาหารปลอม จะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการขยายตัวของการค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ WTO ยังเชื่อมั่นว่า การเจรจาทางการค้าภายใต้ WTO ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการบิดเบือนทางการค้า เงินอุดหนุนและเพื่อแก้ไขปัญหาการจำกัดการนำเข้าและส่งออก จะสามารถช่วยลดแรงจูงใจของการลักลอบและการค้าอาหารที่ผิดกฎหมายได้

96 views0 comments

Comments


bottom of page