การส่งเสริมนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) เป็นหนึ่งในพันธกิจที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
การส่งเสริมนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) เป็นหนึ่งในพันธกิจที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization – WIPO) ให้ความสำคัญเพื่อการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
โดยเมื่อปี 2558 WIPO ได้จัดตั้ง Online Database Platform ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเทคโนโลยีสีเขียวควบคู่ไปกับส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่นวัตกรรมใหม่ๆ โดยให้ชื่อว่า WIPO GREEN
WIPO GREEN เปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย สมาคมธุรกิจ และบุคคลทั่วไปจากประเทศสมาชิกของ WIPO เข้าร่วมเป็น partner และใช้ประโยชน์จาก Platform ได้ โดยในปัจจุบัน มีข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมพลังงาน การกำจัดมลภาวะและขยะ น้ำ การก่อสร้าง วัสดุ การเกษตรและป่าไม้ และการขนส่ง หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมเกือบ 3,000 เทคโนโลยี ที่ได้รับการบรรจุข้อมูลอยู่ใน database ของ WIPO GREEN
ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้ง WIPO GREEN ตั้งแต่ต้น ได้สนับสนุนให้หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนได้เข้าร่วมเป็น partner ของ WIPO GREEN โดยที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานสิทธิบัตรของญี่ปุ่น (Japan Patent Office) บริษัทเอกชน เช่น บริษัท Canon Inc. บริษัท Daicel Corporation บริษัท Daikin Industries บริษัท Fujisu Limited เป็นต้น หรือสถาบันวิจัย เช่น Waseda University Environmental Research Institute และ Tokai National Higher Education and Research System ได้เข้าร่วมเป็น partner และนำข้อมูลนวัตกรรมสีเขียวเข้าฐานข้อมูลของ WIPO GREEN
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Canon Inc ซึ่งได้เข้าร่วมเป็น partner ของ WIPO GREEN เมื่อปี 2562 ได้จดทะเบียนเทคโนโลยีของบริษัทฯ รวม 28 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ และพลาสติกรีไซเคิลไว้ใน WIPO GREEN โดยทางบริษัทฯ คาดหวังว่า บริษัทอื่นๆ หรือลูกค้าทั่วไปที่มี ความต้องการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะหันมาศึกษาและใช้เทคโนโลยีของ CANON ซึ่งปรากฏใน WIPO GREEN ในอนาคต
จากข้อมูลของ WIPO พบว่า ในปี 2562 มีผู้เข้ามาใช้งาน (users) Platform ของ WIPO GREEN รวมกว่า 1,417 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 14.5 โดยประเทศที่มีผู้ใช้งาน WIPO GREEN มากที่สุด 10 ลำดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย ฝรั่งเศส จีน เคนยา เยอรมนี อังกฤษ และเกาหลี
นอกจากนี้ ร้อยละ 43 ของเทคโนโลยีซึ่งอยู่บน Platform ของ WIPO GREEN สามารถนำมาใช้ ได้จริง โดยร้อยละ 25.5 เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานในเชิงพาณิชย์ และร้อยละ 45 เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา
จะเห็นได้ว่า WIPO GREEN เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ WIPO ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมความยั่งยืนโดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีส่วนในการช่วยส่งเสริมการตลาดและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้ที่สนใจของไทย สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์หรือเข้ามาร่วมเป็น partner ของ WIPO GREEN ได้เช่นกัน
*************************
ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
Commentaires