ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และองค์การ การค้าโลก (WTO) ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเอาชนะการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความรุนแรงต่อมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ
Mr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก Mr. Daren Tang ผู้อำนวยการใหญ่ WIPO และ Dr. Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เข้าพบหารือกัน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เพื่อทบทวนความคืบหน้าในการริเริ่มต่าง ๆ ที่ประกาศในแถลงการณ์ร่วม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือและผลักดันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และกำหนดทิศทางในอนาคตสำหรับความร่วมมือระดับไตรภาคีขององค์กร เพื่อให้แน่ใจ ว่ายังคงตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนทั่วโลกได้
การเปิดตัวแพลตฟอร์มความช่วยเหลือด้านเทคนิคไตรภาคีที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นแพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจรแก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีสาธารณสุขสำหรับการรับมือกับ COVID-19 ของแต่ละชาติ ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะรวมถึงการใช้ทางเลือกทางกฎหมายและนโยบาย อย่างเต็มรูปแบบในการเข้าถึงเทคโนโลยีสาธารณสุข และแนวทางการจัดการกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในปัจจุบัน
การเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาศักยภาพเชิงเทคนิคเริ่มมีขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยมุ่งเน้นไปที่การอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และการแบ่งปันข้อมูลการทดสอบทางคลินิก ทั้งนี้ การหารือครั้งต่อไปจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องความท้าทายในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยต่าง ๆ
ในการประชุมครั้งนี้ยังมีความยินดีกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของทั้ง 3 องค์กรในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่ช่วยเสริมและปรับปรุง รายงานที่ตีพิมพ์ร่วมกันของทั้ง 3 องค์กรในปี พ.ศ. 2563 เรื่อง "Promoting to Medical Technologies and Innovation"
สุดท้ายนี้ มีการยืนยันว่า การประชุมเชิงนโยบายระดับสูงเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อน จะมีการรวบรวมปัญหา COVID-19 และเน้นย้ำถึงสิ่งที่จำเป็นในการฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 ในปัจจุบัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ดีขึ้นสำหรับอนาคต ก่อนจะปิดการประชุมด้วยการแสดงความมุ่งมั่นในทางปฏิบัติที่จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนระดมทรัพยากรและความรู้ที่จำเป็น เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประเทศที่ต้องการ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศใดที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
ความคืบหน้าในแนวทางการรับมือ COVID-19 ของ WTO
ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทาง WTO ได้มีการจัดการประชุมและทำ Workshop เพื่อการพิจารณาถึงแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีตัวแทนจากชาติสมาชิกของ WTO กว่า 250 คนที่เข้าร่วมในการหารือ โดยการประชุมนั้น มุ่งเน้นไปที่มุมมองเชิงปฏิบัติของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (R&D) การผลิต การอนุมัติด้านกฎระเบียบ การจัดจำหน่าย และการประสานงานของแคมเปญการฉีดวัคซีน โดยมี Ms. Anabel González รองผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO เป็นประธานในการประชุม
โดยรองผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO ได้มีการยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของ WTO ในการช่วยเหลือสมาชิกในการจัดการกับความท้าทายทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ เธอกล่าวว่างานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ ผู้เข้าร่วมเข้าใจกระบวนการเกี่ยวกับการวิจัย การผลิต และการจัดจำหน่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บรรยายร่วมยังประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจากประเทศชิลี ลาว และโมร็อกโก ตลอดจนบุคลากรของยูนิเซฟ ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO)
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตวัคซีนและบริษัทด้านการขนส่ง เช่น Pfizer, AstraZeneca, Novavax และ DHL ตลอดจนกลุ่มแนวร่วมเพื่อนวัตกรรมการเตรียมพร้อมในการแพร่ระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI) ต้องเผชิญ ผู้ร่วมอภิปรายได้มีการอภิปรายถึงวิธีการต่าง ๆ ในการรวบรวมข้อมูลการผลิตจากทั่วโลก เพื่อปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล การแจกจ่าย และวางแผนสำหรับโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน อันเป็นอีกหนึ่งความพยายามและความร่วมมือสำหรับการรับมือกับ COVID-19 ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ WTO
Source:
Comments