Image from Freepik
UPOV ได้จัดการสัมมนาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างการคุ้มครองพันธุ์พืชกับการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช (Seminar on the Interaction Between Plant Variety Protection and the Use of Plant Breeding Technologies) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ของ UPOV ที่นครเจนีวา และผ่านระบบ ออนไลน์ และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ รวมกว่า 300 คนจากทั่วโลก
การสัมมนาดังกล่าว มีการแบ่ง Sessions ย่อยออกเป็นสี่ช่วง ดังนี้ โดย ช่วงแรก มีการหารือในหัวข้อ Developments in Technologies Used in Plant Breeding โดยมีการบรรยายสรุปในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
(1) หัวข้อเรื่อง Induction Gene-based DH Breeding for Multicrops ผู้บรรยายได้กล่าวถึงการพัฒนาสายพันธุ์พืช เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี โดยการใช้วิธี DH ที่ใช้ DH Inducer เป็นตัวชักนำที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้ได้ สายพันธุ์แท้ที่มีระดับโฮโมไซกัส (Homozygous) ร้อยละ 100 และเป็นประโยชน์ต่อการทดสอบ DUS และการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ โดยเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ที่ใช้ DH เป็นพื้นฐาน เช่น การคัดเลือกจีโนม การตัดต่อยีน และการโคลนเมล็ดลูกผสม จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มากขึ้น
(2) หัวข้อเรื่อง Integration of New Breeding Technologies (NBTs) into Variety Breeding: How to Find the Right Balance for Incentivizing Innovators? ผู้บรรยายได้แสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีการผสมพันธุ์ใหม่ (NBTs) สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม และนักปรับปรุงพันธุ์ควรได้รับแรงจูงใจในการพัฒนา NBTs และควรมีการแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองอนุพันธุ์สำคัญ (Essentially Derived Variety: EDV) เพื่อส่งเสริมแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ให้มากขึ้น
(3) หัวข้อเรื่อง Improvement of New Fruit Tree Cultivars and Usage of Genetic Markers for Characterization and Maintenance of Plant Breeder’s Rights ผู้บรรยายได้กล่าวถึงตัวอย่างการใช้ชีวโมเลกุลในการคุ้มครองพันธุ์พืช (Cultiva Protection) โดยใช้เครื่องหมาย DNA ได้แก่ เครื่องหมาย SNP และ SSR ในทับทิม และการใช้ Gene Mapping ในอัลมอนด์
(4) หัวข้อเรื่อง Natural and Induced Mutations Secured by Clonal Propagation: Impact and Implications ผู้บรรยายได้กล่าวถึงผลดีของการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยรังสีเพื่อให้เกิดการกลายพันธุ์ อาทิ การพัฒนาคุณภาพและการต้านทานโรค พร้อมมองว่า การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ในการพัฒนา EDV เป็นสิ่งสำคัญ และ
(5) ห้วข้อเรื่อง Breeding and Biotechnology in Argentina: a Sugarcane Genetics Perspectives ผู้บรรยายได้กล่าวถึงกรณีการศึกษาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยโดยใช้เทคนิคการปรับปรุงยีนในอาร์เจนตินา
สำหรับ ช่วงที่สอง เป็นการสัมมนาในหัวข้อ Partnering in Use of Technology โดยมีการบรรยายสรุปในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
(1) หัวข้อเรื่อง New Breeding Techniques: Public Research Institute Perspective ผู้บรรยายได้กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการของสถาบันวิจัยของรัฐซึ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและการวิจัยที่เน้นผลงานทางวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมความร่วมร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย ผู้พัฒนาพันธุ์ และบริษัทเอกชน โดยสถาบันวิจัยควรมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี
(2) หัวข้อเรื่อง The Importance of Public-Private Collaboration to Enhance Application of Biotechnology Plant Breeding ผู้บรรยายได้กล่าวถึงกรณีศึกษาความร่วมมือ Nordic PPP for Pre-breeding ซึ่งเป็นความร่วมมือนักปรับปรุงพันธุ์ในสถาบันวิจัยกับภาคธุรกิจ ในเทคโนโลยีด้าน High Throughput Phenomics (HTP)
(3) หัวข้อเรื่อง How to Balance PBR and Patents in Breeding Programs: Lantmaennen (Farming Cooperative) Perspective ผู้บรรยายได้กล่าวถึงความเห็นของ Lantmaennen ซึ่งเป็นสหกรณ์ด้านเกษตรของยุโรปเหนือและมีบทบาทในการปรับปรุงพันธุ์พืชหลายชนิด ซึ่งเห็นว่า ในอนาคต EDV จะมีมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากในเรื่องดังกล่าวและมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช รวมถึงการใช้ New Genomic Technology (NGT) เช่น CRISPR/Cas9 ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและกฎหมายในการรักษาสมดุลย์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับ ช่วงที่สาม เป็นการสัมมนาในหัวข้อ Role of IP Rights in Securing Investment and Partnership in Breeding โดยมีการบรรยายสรุปในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
(1) หัวข้อเรื่อง Plant Variety Protection According to the 1991 UPOV Convention and New Plant Breeding Technologies ผู้บรรยายเห็นว่า UPOV 1991 มีสาระครอบคลุมเทคนิคการผสมพันธุ์แบบใหม่ภายใต้หลักการคุ้มครองพืชทั่วไป และไม่จำกัดนวัตกรรม พร้อมมองว่า การใช้ NBTs ได้มีส่วนให้ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชได้รับพันธุ์ใหม่ ที่ไม่มีอยู่ในสายพันธุ์เดิมหรือไม่สามารถผลิตได้โดยการผสมข้ามพันธุ์ คัดเลือก หรือแก้ไขข้อบกพร่องในข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างคุณลักษณะสำคัญใหม่ พร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขอนุสัญญา UPOV 1991 ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป
(2) หัวข้อเรื่อง Role of Plant Breeders Rights and Other Forms of IP in Promoting Plant Breeding ผู้บรรยายเห็นว่า NBTs มีความสำคัญต่อผู้ปรับปรุงพันธุ์ และควรได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกันควบคู่ไปกับการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการทั่วไป และควรได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช (PBR) เต็มรูปแบบ โดย UPOV จำเป็นต้องรับประกันการปกป้องพันธุ์ที่มีอยู่อย่างสมดุล และสนับสนุนสิ่งจูงใจในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการปรับปรุงพันธุ์ และควรต้องมีการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับ EDV
ใน ช่วงสี่ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้าย มีการหารือในหัวข้อ Supporting the Development of New Varieties that Maximize Benefit for Society – The Role of the UPOV System of PVP โดยมีการบรรยายสรุปในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
(1) หัวข้อเรื่อง Breeders’ View on Essentially Derived Varieties ผู้บรรยายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม และผลกระทบของ NBTs เช่น การดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่ง UPOV ควรตระหนักถึงความท้าทายที่เกิดจาก NBTs และเพื่อให้มั่นใจว่ามีการแข่งขันที่ยุติธรรมระหว่างนักปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิมและ NBTs และควรมีการแก้ไขนิยามของ EDV ใน Explanatory Note ของ UPOV 1991 ใหม่
(2) หัวข้อเรื่อง Diversity of Breeding Technologies and Impact for Plant Variety Protection ผู้บรรยายได้กล่าวถึง ความท้าทายด้าน IP ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ NBTs แต่การพัฒนาการใช้ NBTs ยังคงไม่เต็มรูปแบบเนื่องจากการพัฒนาบางเทคโนโลยียังไม่สมบูรณ์ เช่น การจัดลำดับจีโนม (Genome Sequencing) นอกจากนี้ การประเมินการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ได้มาจาก NBTs จำเป็นต้องประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจถึงความโปร่งใสและลดข้อกังวลของสังคมเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนและการเข้าถึงของ NBTs อาจส่งผลให้สิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช (PBR) อ่อนแอลง และ EDV ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์หลักได้
การจัดการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องจากการสัมมนาครั้งล่าสุด เมื่อปี 2564 โดยเน้นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มผลผลิตอาหารอย่างยั่งยืน บทบาทของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมทางพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงเทคนิคการแก้ไขยีน และ EDV ซึ่งที่ผ่านมา UPOV ได้ให้การยอมรับว่า มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางพันธุกรรมด้วย ทั้งนี้ ในภาพรวม ภาคีสมาชิกของ UPOV มีท่าทีที่เห็นพ้องร่วมกันว่า ควรมีการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ระยะยาวของภาคการเกษตรต่อไป
อนึ่ง UPOV เป็นองค์กรระหว่างประเทศ (The International Union for the Protection of New Variety) ตั้งอยู่ที่ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งเมื่อ 1961 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ภายใต้ “อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่” (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants) ที่ต่อมาได้ทำการปรับปรุงเมื่อปี 1972 1978 และ 1991 พันธะกิจ UPOV “ให้และส่งเสริมระบบที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิในพืชพันธุ์ใหม่ เพื่อผลักดัน การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ให้ประโยชน์กับสังคม” UPOV จึงเป็นองค์กรที่ผลักดันด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยการให้การรับรองสิทธิแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืช โดยการให้สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญากับนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีพืชพันธุ์ใหม่
Comments