SMEs เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ด้วยสัดส่วนของ SMEs ที่มีสูงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนบริษัททั่วโลก และมีสัดส่วนการจ้างงานถึงร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงต่อการเติบโตและขยายตลาดของ SMEs และด้วยความตระหนักในบทบาทความสำคัญของ SMEs ดังกล่าว องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) จึงได้กำหนดให้ใช้เรื่อง IP & SMEs: Taking your ideas to markets เป็นหัวข้อหลัก (Theme) ในการเฉลิมฉลองวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day) ประจำปี ค.ศ. 2021 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pmtw.moc.go.th/post/wipo-เน-นส-งเสร-ม-smes-ใช-ประโยชน-จาก-ip-ในว-นทร-พย-ส-นทางป-ญญาโลกป-น )
แนวคิดเรื่องนวัตกรรมแบบเปิดกับการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับ SMEs
ที่ผ่านมา บทบาทของ SMEs มักถูกมุ่งเน้นในเรื่องการเป็นเครื่องมือลดและขจัดความยากจนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในปัจจุบันที่นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายด้านต่าง ๆ ของโลก SMEs จึงมีความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการใช้นวัตกรรมด้วย โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวเชื่อมโยงที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ระหว่างการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และจากการนำนวัตกรรมไปก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสริมความสามารถแข่งขันของ SMEs
แนวคิดเรื่องนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open innovation เป็นแนวคิดหนึ่งที่มีการหยิบยกในการนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนวัตกรรมแบบเปิดในที่นี้ประกอบด้วยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทอื่นและสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาอื่น ๆ การมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจสตาร์ตอัป สถาบันวิจัยของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานนอก ตลอดจนการแบ่งปันและเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี โดยการมีเครือข่ายนวัตกรรมแบบเปิดนี้ ไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หมายถึงการแลกเปลี่ยนความคิด องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ให้กับความคิดสร้างสรรค์
ยกตัวอย่างเช่นการมีเครือข่ายนวัตกรรมเชิงรุกจะช่วยให้ SMEs สามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในฐานะข้อมูล (information) เครื่องมือ (tool) และสินทรัพย์ (asset) เพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเชิงรุกแบบมียุทธศาสตร์แทนที่จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการปกป้องตามแนวคิดดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว อาทิ ในรูปการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยีที่ตนมีอยู่ไปต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมหรือการใช้ประโยชน์ เชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่ ๆ การขายหรืออนุญาตให้บริษัทอื่นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนมีอยู่แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นต้น ดังนั้น แนวคิดเรื่องนวัตกรรมแบบเปิดสำหรับ SMEs จึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิธีการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้เปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุกในการจัดการและใช้ประโยชน์สูงสุดจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งบางครั้งอาจรวมถึงการบริหารจัดการ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มการประสานงานและความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก
ทั้งนี้ สามารถศึกษาแนวคิดเรื่องนวัตกรรมแบบเปิดกับการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมได้ที่
1. SMES, Open Innovation and IP Management : Advancing Global Development โดย Stanley P. Kowalski
2. https://www.wipo.int/edocs/mdocs/sme/en/wipo_smes_rom_09/wipo_smes_rom_09_b_theme02_2-related1.pdf
Comentarios