EU ประกาศใช้อนุญาโตตุลาการ ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ภายใต้ WTO ในระหว่างที่องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตัดสินคดีอุทธรณ์ได้
การคัดค้านของสหรัฐฯ ในการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ส่งผลให้เกิดวิกฤตในการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เหลือเพียง 1 คน จากปกติที่จะต้องมี 3 คนจึงจะสามารถตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้ ดังนั้น สมาชิก WTO บางส่วนจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ในการอุทธรณ์ เพื่อทำให้คดีพิพาทถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 EU ได้เผยแพร่เอกสารข่าวผ่านทางเว็บไซต์ ระบุว่า EU และสมาชิก WTO รวม 19 ประเทศ* ได้แจ้งการใช้ข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว (Multi-Party Interim Appeal Arbitration Arrangement: MPIA) ต่อองค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO แล้ว การจัดทำข้อตกลงหลายฝ่ายฯ อยู่บนพื้นฐานของข้อ ๒๕ ของ DSU ซึ่งใช้กับการพิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่องค์กรอุทธรณ์ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมข้อตกลงหลายฝ่ายฯ จะคัดเลือกอนุญาโตตุลาการ 10 คน ซึ่งคาดว่า กระบวนการคัดเลือกบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการจะเสร็จภายในกรกฎาคม
การดำเนินการของ EU และสมาชิกดังกล่าวส่งผลให้คดีพิพาทระหว่างสมาชิกจะได้รับการรับการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ ภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 25 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดชองเชื้อไวรัส COVID -19 องค์กรระงับข้อพิพาท (DSB) ยังไม่สามารถจัดประชุมได้ จึงยังไม่สามารถประเมินท่าทีจากสมาชิกอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ว่า จะมีท่าทีเห็นด้วยหรือคัดค้านการดำเนินการของ EU และสมาชิกบางส่วนมากน้อยเพียงใด และหากสหรัฐฯ คัดค้าน ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการที่ต้องพึ่งพางบประมาณและบุคลากรของ WTO ด้วย
ในขณะเดียวกัน EU ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขระเบียบ ที่ 654/2014 เรื่องการใช้สิทธิของสหภาพยุโรปเพื่อนำมาใช้และบังคับใช้กับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ (Regulation concerning the exercise of the Union’s rights for the application and enforcement of international trade rule) เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ต่อคู่พิพาทที่จะใช้การอุทธรณ์ต่อองค์การอุทธรณ์ (ซึ่งไม่สามารถพิจารณาตัดสินคดีได้) เป็นแนวทางหลีกเลี่ยงการทำให้คดีถึงที่สุด การแก้ไขระเบียบดังกล่าวมีแนวทางว่า ถ้าคู่พิพาทของสหภาพยุโรปที่แพ้คดีในชั้น Panel และไม่เป็นสมาชิกของ MPIA ได้อุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ (ซึ่งทำให้คดีไม่ถึงที่สุด) EU จะมีมาตรการเพื่อจำกัดการค้า (measures are taken to restrict trade) กับประเทศดังกล่าวได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะสอดคล้องกับความสูญเสียหรือความเสียหายของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของ EU ซึ่งได้รับจากการมาตรการของประเทศคู่พิพาท ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปอาจให้ความเห็นชอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวในช่วงกลางปี 2563
มีหลายฝ่ายมองว่า การใช้มาตรการตอบโต้ของ EU มีสหรัฐฯ เป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ถูกมองว่าเป็นการใช้มาตรการฝ่ายเดียวตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจขัดกับ WTO ทั้งนี้ หาก EU ใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ก็อาจเกิดการตอบโต้กันไปมาได้ แต่หาก EU ใช้กับประเทศที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ก็เป็นการยากที่ประเทศดังกล่าวจะตอบโต้ EU และอาจถูกบีบบังคับทางอ้อมให้เข้าเป็นสมาชิกของ MPIA เพื่อใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงต้องจับตามองกันว่า WTO จะยังสามารถเป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกในการอำนวยความยุติธรรมในการตัดสินคดีพิพาททางการค้าได้มากน้อยเพียงใด มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าตามอำเภอใจอย่างแพร่หลาย โดยไม่เกรงกลัวว่า เมื่อทำผิดกฎเกณฑ์ของ WTO แล้ว จะมีใครมาตัดสินคดี
*ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา สหภาพยุโรป กัวเตมาลา ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ปากีสถาน สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ ยูเครนและอุรุกวัย
กาจฐิติ วิวัธวานนท์
14 พฤษภาคม 2563
Comments